โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ 4 มิถุนายน 2553 16:41 น.
** คำถาม จงเปรียบเทียบพฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทยกับเด็กอเมริกัน
ตลาดของวัยรุ่นหรือทีนเอจเป็นกลุ่มลูกค้าที่น่าสนใจของนักการตลาดมาโดยตลอด การทำความเข้าใจกับพฤติกรรมการตัดสินใจเลือกแบรนด์ของลูกค้าวัยทีน จึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ และเป็นสารสนเทศที่ต้องการแสวงหากันอย่างต่อเนื่อง
การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ของไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ ได้เปิดเผยข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าวัยทีน โดยมีประเด็นทางการตลาดที่น่าสนใจ
ประการแรก ลูกค้าวัยทีนเป็นลูกค้าที่ใช้คำบอกกล่าวจากเพื่อนเป็นหลักในการตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้าอะไร และมีพฤติกรรมการซื้อตามกันค่อนข้างมาก
ประการที่สอง ลูกค้าวัยทีนไม่ได้ละทิ้งความสนใจต่อโฆษณาเสียทีเดียว การสำรวจพบว่าลูกค้าวัยนี้ใช้งานโฆษณาเป็นการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์
ประการที่สาม ในประเด็นเกี่ยวกับแบรนด์ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างลูกค้าในวัยต่างๆ กันแล้ว พบว่าลูกค้าวัยทีนมีความซีเรียสและกังวลต่อการตัดสินใจเลือกแบรนด์มากกว่าคนวัยอื่นๆ เพราะเชื่อว่าการเลือกแบรนด์ผิดพลาดจะมีผลกระทบต่อสถานะของตนอย่างมาก จนกลายเป็นว่าคนวัยนี้ ไม่ใช่แบรนด์อะไรก็ได้ ยี่ห้ออะไรก็ได้ แต่ต้องผ่านการกลั่นกรองและมีความเชื่อมั่นในระดับที่ยอมรับได้ก่อน
ประการที่สี่ การค้นหาแบรนด์ที่จะใช้เปรียบเทียบในการซื้อสินค้าแต่ละครั้งของกลุ่มลูกค้าวัยทีน ใช้เครือข่ายสื่อออนไลน์อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อค้นหาว่าคนอื่นๆ มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับแบรนด์อย่างไร วิธีการหรือช่องทางนี้ใช้กันค่อนข้างมากและหนาแน่น ในการซื้อแผ่นเพลง วิดีโอ ความเห็นเกี่ยวกับภาพยนตร์ เกม โดยเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดน่าจะเป็นเฟซบุ๊ก เพียงแต่ยังคงจำกัดอยู่ในสินค้าและบริการด้านเอนเตอร์เทนเป็นหลัก
บุคลิกของเพื่อนที่เป็นผู้ทรงอิทธิพล คือ คนที่มีความเชื่อมั่นสูง ดูดี น่าเชื่อถือ และดูรอบรู้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายด้วยกันเองที่ช่วยให้ความเชื่อถือเกี่ยวกับแบรนด์ในทางบวกได้ ก็จะได้พลพรรคและสาวกของบุคคลดังกล่าวมาอีกมาก
แนวทางการตลาดที่น่าจะตอบสนองกับความต้องการของคนกลุ่มวัยทีนได้ มักจะเป็นการทำงานร่วมกันในรูปแบบของแบรนด์คอลลาบอเรชั่น (Brand collaboration) เป็นการจับมือกันกับแบรนด์อื่นๆ ที่มีลูกค้าเป้าหมายกลุ่มเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น การจับมือกันทำการตลาดแบรนด์ระหว่าง เอ็กซ์บ็อกซ์ที่ทำงานกับเนตฟิกซ์ ช่องทางอีกช่องทางหนึ่งคือการให้ทดลองใช้ฟรี (free trials) ซึ่งเป็นช่องทางที่ดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้ได้ไม่ยาก
นอกจากนั้น การศึกษาเกี่ยวกับลูกค้าวัยทีนยังพยายามเจาะลึกลงไปในสิ่งที่วัยทีนชอบอ่าน สถานที่ที่ลูกค้ากลุ่มนี้ชอบไปชอปปิ้ง สิ่งที่ลูกค้าต้องการจะซื้อ และเว็บไซต์ที่ลูกค้าชอบเข้าไปท่องหาข้อมูลเป็นกิจกรรมประจำวัน ในฐานะของนักการตลาด จะต้องเข้าไปให้ถึงตัวลูกค้าตามโรงเรียนและในห้องนอนให้ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่ลูกค้าแสวงหาจริงๆ
การประเมินของโกลบอล กลานซ์ พบว่าประชากรของวัยทีนทั่วโลกน่าจะมีจำนวนประมาณ 461 ล้านคน ที่อยู่ในวัย 12-19 ปี และเป็นผู้ที่มีอำนาจซื้อสูงรวมกันมากกว่า 592.000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยทีเดียว
แต่การจับตลาดวัยรุ่นไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันเสียทั้งหมด เพราะในขณะที่สินค้าแฟชั่นและสินค้าตามร้านอาหารลดลง ได้มีการพบว่าการซื้อสินค้าประเภทวิดีโอเกมของกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นยังคงเพิ่มขึ้น รวมทั้งแผนการซื้อไอโฟนก็ยังคงมีแนวโน้มในทางบวก
ผลการทำโพลสำรวจ 'The 17th biannual Taking Stock with Teens' เมื่อไม่นานมานี้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น แบรนด์เสื้อผ้า เวสต์ โคสท์ แบรนด์ (อย่างเช่น Pacific Sunwear, C Volcom, Quicksilver และ Zumiez) เป็นแบรนด์เสื้อผ้าอันดับหนึ่งที่วัยรุ่นพอใจ รองลงมาคือ Hollister, Nike, Forever 21 และอเมริกันอีเกิลตามลำดับ แบรนด์ Hollister เป็นที่นิยมสูงสุดในกลุ่มวัยรุ่นผู้หญิง ขณะที่ West Coast Brands เป็นแบรนด์ยอดนิยมของวัยรุ่นชาย
รายจ่ายวิดีโอเกม มีสัดส่วน 8% ของงบทั้งหมดที่ใช้จ่าย เทียบกับ 3% เมื่อราว 5 ปีที่แล้ว และ 89% ของวัยรุ่นเป็นเจ้าของเครื่องเล่นวิดีโอเกมอย่างน้อย 1 เครื่องและราว 59% มีเครื่องเล่น 2 เครื่อง
วัยรุ่น 86% เป็นเจ้าของ MP3 และไอพอด เพิ่มขึ้นจาก 84% เมื่อปีก่อนหน้าและราว 8% ของนักเรียนระบุว่าเป็นเจ้าของไอโฟนของแอปเปิล เพิ่มขึ้นจาก 6% ของปีก่อน และราว 16% ของนักเรียนมีแผนจะซื้อไอโฟนในอีก 6 เดือนข้างหน้า
สตาร์บัคส์เป็นร้านค้าที่วัยรุ่นนิยมมากที่สุด แม้ว่ายอดรายจ่ายตามร้านอาหารจะลดลงจากเดิมก็ตาม
ราว 95% ของวัยรุ่นที่ไปตามร้านค้าในรอบ 30 วันที่ผ่านมาระบุว่า ได้สังเกตเห็นงานโฆษณาของห้างค้าปลีกนั้น และยังนิยมใช้เวลาและเงินตามชอปปิ้งมอลล์นานกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป 68% และอีก 28% ระบุว่าใช้เวลาเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อครั้ง
นอกเหนือจากนั้น การศึกษาพบว่าวัยรุ่นราว 72% ยินดีที่จะทำความรู้จักกับแบรนด์ใน Habbo Hotel ในขณะที่ 40% ของผู้ใหญ่แสวงหาแบรนด์ผ่าน facebook มากกว่า และไม่ได้รู้สึกแตกต่างกันมากระหว่างแบรนด์ออนไลน์และออฟไลน์ แสดงถึงการยอมรับแบรนด์ออนไลน์มากขึ้นนั่นเอง